งานออกแบบ กำลังจะครองโลกแห่งเทคโนโลยี |
งานออกแบบในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา หลายคนอาจจะสังเกตได้ถึงจำนวนตัวเลขของบริษัทด้านเทคโนโลยี ที่มีการรับบุคลากรในแผนกที่เกี่ยวข้องกับงานออกแบบมาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การที่ Google โดดเข้ามาเล่นในสนามของงานออกแบบอุตสาหกรรม หรือการที่ Facebook เปิดตัวเป็นเจ้าของซอฟท์แวร์ และเข้าซื้อกิจการบริษัทดิจิทัลดีไซน์อย่าง Sofa (บริษัทออกแบบระบบปฏิสัมพันธ์สำหรับเว็บไซต์) โดย Facebook ให้เหตุผลในการเทคโอเวอร์ครั้งนั้นว่า เพื่อให้ Sofa เข้ามาช่วยพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์หน้าเว็บให้สวยงามและใช้งานง่ายมากขึ้น นอกจากนั้น Facebook ยังขอเข้าร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับบริษัท Teehan+Lax ในปี 2015 เพื่อให้บริษัทจากโตรอนโต้เจ้านี้เข้ามาช่วยพัฒนา UX ของ Facebook อย่างเต็มรูปแบบด้วย
การร่วมมือกันระหว่างโลกของธุรกิจเทคโนโลยีกับโลกของงานออกแบบนั้น กลายเป็นประเด็นที่กว้างขวางมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยเราจะเห็นว่าทางออกของปัญหาสารพัด (ที่เกิดขึ้นกับบริษัทด้านเทคโนโลยี)กลับไม่ได้อยู่ที่ความล้ำหน้าของนวัตกรรมที่เร็วกว่า หรือระบบปฏิบัติการที่แรงกว่าอีกต่อไป แต่มันกลายเป็นเรื่องของ "ดีไซน์" ที่ได้เข้ามาช่วยทำให้ "บริการทางเทคโนโลยี" ต่างๆ นั้นปรากฏแก่สายตาผู้บริโภคได้อย่างชัดเจนขึ้นกว่าในอดีต
เริ่มต้นงานออกแบบด้วยดีไซน์ เพื่อลงท้ายในความสำเร็จ
จากเดิมที่ธุรกิจเทคโนโลยีมองการออกแบบว่าเป็นเหมือน "สเปรย์" ที่เอาไว้แต่งหน้าทาปากในตอนท้ายของการผลิต แต่ในวันนี้ทุกธุรกิจกลับต้องให้ความสำคัญกับการ "บูรณาการ" งานออกแบบเข้ากับทุกขั้นตอนของการผลิตเราลองมาดูกรณีสุดคลาสสิกของเก้าอี้ Michael Thonet No.141 ที่ออกแบบมาตั้งแต่ปีค.ศ.1859 ตั้งแต่ยุคแรกเริ่มเก้าอี้ตัวนี้ถูกออกแบบให้สามารถแพ็คลงตู้คอนเทนเนอร์ (ขนาด 1 เมตร) ได้ถึง 36 ตัว ถือเป็นการดีไซน์เฟอร์นิเจอร์แนว Flat-pack ถอดประกอบได้ในยุคแรกๆ ที่ผลิตและขนส่งได้ด้วยต้นทุนต่ำ สามารถตั้งฐานการผลิตในยุโรปตะวันออกและส่งขายทั่วโลกได้ไกลถึงกรุงนิวยอร์กในราคาที่ถูกแสนถูก
ตั้งแต่ปี 1859 เป็นต้นมาเก้าอี้ No.141 นี้มียอดขายรวมกว่า 50 ล้านตัว และนี่ก็คือตัวอย่างง่ายๆ ที่แสดงให้เห็นว่าการออกแบบนั้นสามารถนำมาใช้สร้างความได้เปรียบในธุรกิจได้ในทุกขั้นตอนของการผลิต อย่างไรก็ดีเราต้องไม่ลืมว่างานออกแบบที่ยอดเยี่ยมนั้นก็ต้องอาศัยกลยุทธ์เชิงธุรกิจและงานวิศวกรรมที่ดีมาคอยสนับสนุนด้วย สามส่วนนี้คือพื้นฐานของการก้าวไปสู่ความสำเร็จในระยะยาว
เรื่องง่ายๆ ที่งานออกแบบไม่ง่ายของคลิปหนีบกระดาษ
แมท มาโนส (Matt Manos) ผู้ก่อตั้งและ CEO ของบริษัท Verynice บริษัทออกแบบและสร้างสรรค์ระบบ UX: User Experience ในลอสแองเจอลิส ทำงานให้กับสตาร์ทอัพมากกว่า 100 แห่ง ได้ช่วยเหลือแบรนด์หน้าใหม่ในการสร้างภาพลักษณ์และการใช้งานบนหน้าเว็บ ที่ไม่ได้มีดีแค่สวยแต่ยังมีฟังก์ชั่นการใช้งานที่ดีอีกด้วย แมทเคยให้ความเห็นว่า สำหรับเขาแล้วงานออกแบบที่สมบูรณ์แบบที่สุดก็คือ 'คลิปหนีบกระดาษ' เพราะความเรียบง่ายและฟังก์ชั่นการใช้งานของมันนั้นลงตัวมาก ไม่ว่าใครหยิบมาชิ้นหนึ่งก็จะใช้งานเป็นได้ทันที ไม่ต่างจากการออกแบบเทคโนโลยีในทุกวันนี้ที่ก็ควรทำหน้าที่ได้เด็ดขาดไม่ต่างจากคลิปหนีบกระดาษข้างต้น
แมทกล่าวว่าเหตุผลที่บริษัทด้านเทคโนโลยีควรให้ความสำคัญกับงานออกแบบนั้นไม่ใช่แค่ในเรื่องของความสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่เพราะงานออกแบบจะช่วยทำให้สินค้าหรือบริการหนึ่งๆ โดดเด่นขึ้นได้ 'ท่ามกลางสินค้าประเภทเดียวกัน' ที่สำคัญมุมมองของนักออกแบบยังมีส่วนช่วยในกระบวนการพัฒนาการใช้งาน ที่เมื่อก่อนเจ้าของธุรกิจอาจจะมีคำถามว่า "แล้วผู้ใช้จะใช้สินค้าเราอย่างไร" แต่นักออกแบบนี่แหละจะคิดให้คุณได้ว่า "ผู้ใช้จะใช้สินค้าของเราได้อย่างไรในทุกๆ วัน"
ก้าวแรกของสตาร์ทอัพ ต้องเดินไปพร้อมกับนักออกแบบ
บ่อยครั้งที่เหล่าสตาร์ทอัพเชื่อว่าเรื่องของ UX หรืองานออกแบบนั้นไม่ใช่เรื่องที่สำคัญเท่ากับการทำระบบซอฟต์แวร์ แต่การแข่งขันอันดุเดือดของผู้เล่นในวงการสตาร์ทอัพ ก็ทำให้หลายเจ้าเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการออกแบบมากขึ้น โดยเหตุผลง่ายๆ ก็คือเพราะพวกเขาอยากจะให้ผู้บริโภค "รู้สึก" ถึงผลิตภัณฑ์ของพวกเขาได้ลึกซึ้งขึ้น เช่นทุกวันนี้ผู้คนไม่ได้แค่คิดว่า "เราจะออกไปซื้อรถสักคันนะ" แต่พวกเขามีความต้องการ (จากรถ) ที่เฉพาะเจาะจงกว่านั้นมาก เช่นว่า ฉันอยากได้รถที่พอดีกับงบประมาณ อยากได้รถที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ได้พอดิบพอดี อยากได้ความรู้สึกที่ใช่เมื่อเขาเป็นเจ้าของรถคันนั้น ฯลฯ ผู้คนกำลังมองหา 'คุณค่าที่เพิ่มเข้ามา' ซึ่งจะต้องสะท้อนตัวตนของพวกเขาได้อย่างดีที่สุด
เช่นเดียวกันกับสินค้าเทคโนโลยีอื่นๆ ในโลกปัจจุบัน ที่ผู้บริโภคต่างก็มีความคาดหวังว่าเจ้าของธุรกิจหรือสตาร์ทอัพจะต้องเข้าใจแล้วว่าพวกเขามีความต้องการอะไร นอกจากนั้นยังคาดหวังต่อไปด้วยว่าพวกเขาจะสามารถซื้อและใช้สินค้าเหล่านั้นได้ 'ทันที' โดยไม่ต้องอ่าน 'คู่มือ' อีกต่อไป ซึ่งหากธุรกิจใดสามารถจะประยุกต์งานออกแบบเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโลกเทคโนโลยีได้อย่างสมบูรณ์ งานออกแบบก็จะเริ่มทำหน้าที่ของมัน 'อย่างล่องหน' ในรูปแบบของฟังก์ชั่นการใช้งาน ซึ่งแม้ว่าเหล่าผู้บริโภคจะมองไม่เห็นถึง 'การออกแบบ' นี้ด้วยตาเปล่า แต่พวกเขาก็จะ'รู้สึก' ถึงมันได้อย่างแน่นอน
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ร่วมแสดงความคิดเห็นแนะนำติชมกับบทความของเรา